แชร์คำศัพท์! เกี่ยวกับ อัญมณี ที่มือใหม่ควรรู้จัก!

แชร์คำศัพท์! เกี่ยวกับ อัญมณี ที่มือใหม่ควรรู้จัก!

05 ก.ค. 2565   ผู้เข้าชม 1,462

อัญมณีเป็นเครื่องประดับที่งดงาม มีความเปล่งประกายแวววาวและมีมูลค่าสูง มักถูกหยิบใช้ในโอกาสสำคัญเสมอ เพราะฉะนั้นในการเลือกซื้อแต่ละครั้งควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน สำหรับท่านที่มีความสนใจและชื่นชอบในเรื่องของเพชรพลอย อัญมณี และเครื่องประดับ  แต่ไม่มีเวลาที่จะเรียนรู้ เป็นมือใหม่ของวงการอัญมณี วันนี้ Chiang Mai Gem Testing Laboratory Lab - CGT ห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับเชียงใหม่ จะขอมาแนะนำความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคำศัพท์อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งสามารถช่วยให้ท่านตัดสินใจซื้ออัญมณีที่ท่านชื่นชอบได้เป็นอย่างดีและมีมาตรฐาน

หมวด 4Cs การตรวจสอบอัญมณีเบื้องต้น

การประเมินคุณภาพ 4Cs เพชร จะขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 อย่าง ประกอบไปด้วย Color Clarity Carat และ Cut ซึ่งเป็นหลักมาตรฐานสากลที่ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ GIA (Gemological Institute of America) เพื่อบ่งบอกถึงคุณค่าของเพชรเม็ดนั้น ๆ และยังสำคัญมากในการประเมินราคาของเพชรด้วย 

  • Color หมายถึง สีของอัญมณี ซึ่งจะมีสีหลักอยู่ 6 สี คือ แดง ส้ม เหลือง เขียว ม่วง น้ำเงิน การกำหนดสีของอัญมณีเราจะเรียกตามสีจากที่ดวงตาเห็น แต่ในกรณีที่อัญมณีนั้นมีความก้ำกึ่งของสีเช่น อัญมณีมีสีแดงแต่มีสีม่วงผสมเล็กน้อยก็จะเรียกว่า สีแดงอมม่วง
  • Clarity หมายถึง ความสะอาดของอัญมณี ที่มีความสะอาดมากมักจะมีความเปล่งประกาย ยิ่งมีตำหนิน้อยมากเท่าไหร่มูลค่าก็จะยิ่งสูงขึ้น 
  • Carat หมายถึง น้ำหนักของอัญมณี ยิ่งมีน้ำหนักมากก็ยิ่งมีมูลค่าที่สูง และหากพลอยเม็ดใหญ่มากเท่าไหร่ ราคาต่อกะรัตก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น โดยกะรัตคือหน่วยวัดน้ำหนักของอัญมณีนั่นเอง
  • Cut หมายถึง การเจียระไนของอัญมณี เวลาเลือกซื้ออัญมณีหรือเครื่องประดับ เราจะต้องดูที่รูปทรง ที่มีขนาดสมมาตรกัน ขอบพลอยจะต้องไม่บางไม่หนาเกินไป เหลี่ยมพลอยแต่ละจุดต้องมีลักษณะใกล้เคียงกัน พลอยที่มีสัดส่วนการเจียระไนที่สมบูรณ์แบบจะสวยแวววาวและส่องประกายได้ดี

หมวดคำศัพท์คุณภาพของอัญมณี

คุณภาพของอัญมณี เป็นเรื่องที่ผู้ที่ถือครองเครื่องประดับอัญมณีมูลค่าสูงรวมไปถึงผู้ซื้อขายควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะคุณภาพที่ดีของอัญมณีหรือการปรับปรุงคุณภาพอัญมณีให้เกิดความสวยงามโดดเด่นนั้น จะสามารถช่วยให้ผู้ขายขายได้ในมูลค่าที่มากขึ้นนั่นเอง

  • เนื้อสะอาด หมายถึง อัญมณีที่พบมลทินน้อย หรือไม่พบมลทิน (Inclusion) ตำหนิภายในเนื้ออัญมณี โดยปกติตามธรรมชาติของอัญมณีมักมี มลทินแร่ (Inclusion) เป็นส่วนประกอบภายในเนื้ออัญมณี และเป็นตัวบ่งชี้ถึงแหล่งที่มา แหล่งกำเนิดของอัญมณีนั้นๆ ซึ่งก็เป็นตัวบ่งบอกราคา หรือความต้องการในตลาดเช่นกัน
  • พลอยดิบ หมายถึง พลอยที่ขุดมาจากธรรมชาติ มีคุณภาพดี สามารถนำไปเจียระไนได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านขบวนการปรับปรุงคุณภาพใด ๆ มีราคาสูงเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากเป็นของหายาก
  • พลอยเผา หมายถึง พลอยที่ปรับปรุงคุณภาพด้วยการผ่านความร้อน และการใช้ความร้อนปรับปรุงพลอยมีหลายกรรมวิธีที่แตกต่างกันไป และแต่ละกรรมวิธีมีล้วนมีผลต่อการกำหนดราคาที่แตกต่างกัน

หมวดคำศัพท์เกี่ยวกับสีของอัญมณี

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบและหลงรักในเครื่องประดับอัญมณี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสีสันของอัญมณีและเครื่องประดับนั้น ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของแต่ละบุคคล ซึ่งอัญมณีจะมีสีสันที่หลากหลายและความหมายแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะคำศัพท์เหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดจันทบุรีศูนย์กลางการค้าอัญมณีโบราณ คนนอกวงการอาจจะไม่คุ้นเคยกับคำเหล่านี้ เพราะเป็นคำที่ใช้สื่อสารในวงการค้า ไม่ใช่ภาษาทางวิชาการ

  • สีเปิด หมายถึง พลอยที่มีโทนสีสว่างสดใส
  • สีปิด หมายถึง พลอยที่มีโทนสีคล้ำหรือมืด
  • สีกั๊ก หมายถึง พลอยที่มีสีไม่ตรงตำแหน่งกับสีหลัก ยกตัวอย่างเช่น พลอยสีเหลืองที่มีสีเขียวเจืออยู่
  • สีท็อป หมายถึง สีพลอยที่นิยมกันว่าดีที่สุดของพลอยชนิดนั้น ๆ ยกอย่างเช่น ในหมวดของพลอยบุษราคัม คนไทยนิยมสีแม่โขงว่าเป็นสีดีที่สุดและได้รับความนิยมมาก เราก็เรียกสีแม่โขงว่า “บุษราคัมสีท็อป”
  • พลอยตลก หมายถึง พลอยที่มีลักษณะตั้งแต่สองสีขึ้นไปในเม็ดเดียวกัน
  • หน้าต่างสี หมายถึง พลอยที่มีสีไม่เสมอทั่วทั้งเม็ด และในพลอยเม็ดนั้นมีบริเวณไร้สีที่เห็นได้ชัดเจน  เราเรียกบริเวณที่ไม่มีสีนี้ว่า “พลอยมีหน้าต่างสี”
  • หม่า หมายถึง ความขุ่นขาวที่เกิดจากอนุภาคขนาดเล็กคล้ายโรยแป้งฝุ่น
  • เหลือบ หมายถึง ความแวววาวสะท้อนแสงที่ผิวพลอย

หมวดคำศัพท์เกี่ยวกับประเภทอัญมณี

คำศัพท์ในหมวดนี้เป็นคำที่แยกประเภทของพลอยตามลักษณะต่าง ๆ ตามประเภทและคุณภาพ เพื่อใช้สื่อสารในวงการค้าขายเครื่องประดับและอัญมณี

  • พลอยเนื้อแข็ง หมายถึง พลอยที่มีคุณสมบัติความแข็งเป็นระดับสองรองจากเพชร และสามารถทนทานความร้อนได้สูงมาก
  • พลอยเนื้ออ่อน หมายถึง พลอยทุกชนิดที่อยู่นอกเหนือจากตระกูลคอรันดัม จะถูกเรียกรวม ๆ ว่า “พลอยเนื้ออ่อน”
  • พลอยใต้ หมายถึง พลอยคุณภาพต่ำราคาถูกกว่าพลอยทั่วไป และมักซื้อขายกันเป็นล็อตใหญ่ ๆ โดยบรรจุถุงแล้วชั่งน้ำหนักรวมทีเดียว เป็นลักษณะการเหมาซื้อแบบยกไปทั้งห่อ
  • พลอยหัว หมายถึง พลอยระดับคุณภาพดีเยี่ยม  มีราคาสูง  เป็นพลอยที่ขายแยกเป็นเม็ดเดี่ยว มักเป็นพลอยที่มีขนาดกลางขึ้นไป พลอยเกรดนี้จะใช้กับงานประเภท “Fine Jewelry” ที่มีชื่อเสียง เน้นการออกแบบเป็นพิเศษ
  • พลอยวัดมิล หมายถึง คำเรียกรวม ๆ ของพลอยทุกชนิดและทุกเกรดที่มีขนาดเล็กและมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงไม่กี่มิลลิเมตร
  • พลอยลายไท หมายถึง พลอยที่มีตำหนิมากจนเห็นได้ชัดเจน ซึ่งแต่เดิมคือพลอยที่มีตำหนิรอยร้าวและได้ผ่านขบวนการผสานรอยร้าวด้วยผงฟลักซ์ โดยมีความร้อนเป็นตัวช่วย
  • พลอยเนื้อ หมายถึง คำเรียกย่อ ๆ ของพลอยเนื้อดีระดับ 90% ขึ้นไป ที่ดูสะอาดตาไม่ค่อยมีรอยร้าวหรือตำหนิ

หมวดคำศัพท์เกี่ยวกับใบรับรองอัญมณี เบื้องต้น

ข้อมูลในใบเซอร์รับรองอัญมณีนั้นจะต้องระบุถึงข้อมูลของอัญมณีที่ครบถ้วน ทั้งที่มาของและคุณสมบัติตามความเป็นจริงที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ซึ่งการอ่านใบเซอร์รับรองนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญมากในการซื้อขายก่อนจะตัดสินใจซื้ออัญมณี และคำศัพท์ดังต่อไปนี้คือข้อมูลที่ใบรับรองอัญมณีควรมี

  • ใบเซอร์อัญมณี หมายถึง ใบรับรองอัญมณีที่มีการระบุถึงคุณสมบัติ หรือที่มาว่าขุดได้จากแหล่งใด และใบเซอร์ที่ได้มาตรฐานจะต้องมีเลขกำกับเพื่อความถูกต้องระหว่างใบเซอร์และตัวอัญมณี โดยมีข้อมูล 4Cs รวมถึงรายละเอียดราคาที่ชัดเจน และควรเป็นใบรับรองจากห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เช่น GIA
  • Identification หมายถึง ผลการวิเคราะห์ของอัญมณีโดยระบุว่าเป็นประเภทใด และมีแหล่งที่มาจากธรรมชาติ หรือเป็นอัญมณีสังเคราะห์
  • Color หมายถึง การระบุสีของพลอย 
  • Shape and cut หมายถึง การระบุลักษณะรูปร่างว่าเป็นรูปร่างอย่างไร เช่น ทรงไข่ ทรงหยดน้ำ หรือ ทรงสี่เหลี่ยม เป็นต้น
  • Measurement หมายถึง การระบุตำแหน่งภายในเนื้อพลอย ตัวอย่างเช่น Fingerprints, crystals และ minute exsolved particles เป็นต้น
  • Weight หมายถึง การระบุน้ำหนักของพลอย

และทั้งหมดนี้คือคำคัพท์พื้นฐานเกี่ยวกับอัญมณีที่มือใหม่ควรรู้จัก หากท่านใดมีความสนใจและชื่นชอบเกี่ยวกับเครื่องประดับและอัญมณี ทางเรา Chiang Mai Gem Testing Laboratory Lab - CGT ห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับเชียงใหม่ มีบริการตรวจสอบให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจด้านอัญมณี เพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจอัญมณีในประเทศไทยให้พัฒนาก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป โดยห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพแห่งนี้ได้มีการนำเข้าเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบที่ทันสมัย และมีห้องปฏิบัติการอย่างครบถ้วน ทำให้ CGT LAB มีความพร้อมในการตรวจสอบอัญมณีและเป็นสถาบันที่ได้รับความไว้วางใจในมาตรฐานการตรวจสอบจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ


บทความน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

How to เลือกซื้อ อัญมณี ให้เหมือนมืออาชีพและได้ของแท้ 100%
05 ก.ค. 2565

How to เลือกซื้อ อัญมณี ให้เหมือนมืออาชีพและได้ของแท้ 100%

สาระน่ารู้
ใบเซอร์อัญมณี คืออะไร ? ทำไมถึงมีความสำคัญในตลาดอัญมณี!  CGT LAB มีคำตอบ
05 ก.ค. 2565

ใบเซอร์อัญมณี คืออะไร ? ทำไมถึงมีความสำคัญในตลาดอัญมณี! CGT LAB มีคำตอบ

สาระน่ารู้